วันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2558

Q&A for HRD จากคุณมอ แมว

คำถามจากคุณมอแมว
Q: ตอนนี้หนูใกล้จะจบมหาลัยแล้วค่ะ แต่ประสบปัญหาค่ะ คือยังไม่รู้เลยว่าตนเองชอบอะไร รักอาชีพไหน ถนัดทางด้านไหน ควรจะประกอบอาชีพอะไร เลยไม่รู้ว่าจะวางแผนชีวิตในอนาคตตัวเองอย่างไรดี หนูคิดว่าคนบนโลกนี้จำนวนมากก็ยังไม่สามารถค้นพบตัวเอง ว่าชอบอะไร เหมาะกับอาชีพไหน บางครั้งหนูก็อิจฉาคนบางคนที่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร รักอาชีพไหน เพราะการที่คนเราได้ทำในสิ่งที่ชอบสิ่งที่รัก ทำอะไรด้วยใจ หนูว่ามันคงจะก้าวหน้ามากกว่าคนที่ทำเพราะหวังสิ่งตอบแทน เช่น ชื่อเสียง เงินทอง หรืออย่างน้อยที่สุดก็มีความสุขที่เกิดจากการที่ทำงานที่ตนเองชอบ
สรุปคำถามคือ อาจารย์พอจะมีวิธีการ แนวทางอะไรที่จะทำให้คนเราค้นพบตัวเองในด้านหน้าที่การประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับตนเองบ้างคะ หลักในการวางแผนชีวิตในอนาคตที่ดีนั้นมีอะไรบ้างคะ
 Answer: การหาพรสวรรค์ในตนเองทำได้อย่างไร
1. วิธีที่จะค้นพบพรสวรรค์ของตนเองได้ ระหว่างวัยเรียน
1.1 ในวันว่าง-ปิดภาคเรียน ให้ใช้เวลาว่างนั้นหางานพิเศษทำ งานอะไรก็ได้ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต
1.2 เปลี่ยนงานพิเศษทำไปเรื่อยๆ กว่าจะจบสี่ปี เราก็มีประสบการณ์เยอะแล้ว จากนั้นก็ถามตัวเองว่า งานอะไรที่เราไปฝึกทำมัน หรือลองทำเป็นพิเศษนั้น เราทำได้ค่อนข้างดี และรู้สึกว่าสนุกไปกับมันบ้าง คุณจะค้นพบได้ด้วยตนเอง
1.3 จำไว้ว่าไม่มีทางที่มนุษย์คนไหนจะค้นพบพรสวรรค์ตนเองได้ หากนั่งเฉยๆ เรียนไปเรื่อยๆ คิดค้นหาหรือว่าคาดหวังไปเรื่อยๆ เพราะเราจะค้นพบมันได้ด้วยประสบการณ์การเรียนรู้มันด้วยตัวเราเองเท่านั้น เช่น บางคนเรียนจบแพทย์แต่พบว่าตนเองเป็นนักการเมืองได้ดีกว่าและชอบมากกว่า บางคนจบวิศวะแต่หันมาเอาดีทางด้านการเป็นนักร้องหรือดาราก็มี อย่างเเบิร์ดธงชัย แม็คฯก็เรียนจบมาแรกๆก็ทำงานสายธนาคารแต่มาลองหัดร้องเพลงดู ก็พบว่าตนเองชอบมากกว่า และทำได้ดีกว่าจึงกลายมาเป็นซุปเปอร์เบิร์ด (ป้าเบิร์ด) จนบัดนี้ เป็นต้น
1.4 ถ้าคนพวกนี้ไม่ลอง ไม่ทำ นั่งเฉยๆ เขาไม่มีวันพบพรสวรรค์หรือสิ่งที่ตัวเองชอบหรอก ไม่มีใครคาดหวังหรอกว่าเรียนจบสาขาไหนแล้วจะสามารถทำงานในสาขานั้นได้อย่างรุ่งเรือง เพราะทุกสิ่งไม่แน่นอนครับ
2. หลักการวางแผนอนาคตที่ดี
2.1 ทำปัจจุบันนี้ที่ตนมีหน้าที่และมีโอกาสทำอยู่ให้ดีที่สุด ไม่มีคำว่าเบื่อ ไม่มีคำว่าท้อ ไม่มีคำว่าเซ็ง
2.2 ถ้าทำในข้อแรกได้สำเร็จ นั่นเท่ากับว่าคุณก็มีต้นทุนหลายสิ่งที่จะนำไปใช้ในอนาคตได้ตั้งมากมาย ไม่ว่าคุณจะนำไปประกอบอาชีพอะไรก็ตาม เช่น ความเฉลียวฉลาดในการมองโลก ศักยภาพทางปัญญา ทักษะในการดำเนินชีวิตร่วมกันกับผู้อื่น ทักษะในการทำงานเป็นทีม ทักษะการมีมนุษยสัมพันธ์กับผู้อื่น ความสามารถด้านการเรียนรู้ ทักษะการใช้ปัญญาของสมอง หรืออื่นๆ สิ่งเหล่านี้คุณสามารถเรียนรู้ได้ในรั้วมหาวิทยาลัยทั้งสิ้น นอกเหนือจากวิชาการหรือวิชาชีพที่คุณเรียนซึ่งคุณอาจไม่รักไม่ชอบมัน แต่คุณก็ต้องเรียนให้จบ สอบให้ผ่าน เพราะสังคมไทยเขายังต้องการใบปริญญาบัตรของคุณไงครับ
2.3 เราจะเหลวไหลไม่ใส่ใจเรียนให้จบสอบให้ผ่าน เพราะบอกตัวเองว่าเซ็งว่าไม่ชอบไม่ได้แล้ว เพราะมันหมายถึงการเสียเวลาไปสี่ปี จงเอาใบปริญญามาให้ได้ จบแล้วคุณจะเลือกไปทำอาชีพอะไร ถึงวันเวลานั้นคุณจะรู้เอง แต่ถ้าคุุณยิ่งทดลองงาน ฝึกงาน ทำงานพิเศษในช่วงวันหยุดหรือปิดภาคเรียนในทุกปีการศึกษามาแล้วด้วย มันก็จะยิ่งทำให้คุณมองเห็นช่องทางมากขึ้นได้เองแหละครับ
2.4 ต้องไม่เลือกงาน-ไม่เกี่ยงงานเมื่อเรียนจบแล้ว หากทำงานอะไรได้แล้วพบว่าไม่ชอบก็ค่อยๆเสาะหาใหม่จนกว่าจะเจอที่ตนชอบ แต่ไม่ควรเปลี่ยนงานบ่อยจนเคยตัว

2.5 ถ้าขยันในไม่ช้านานคุณก็จะพบงานที่เหมาะกับคุณแน่นอน เมื่อพบแล้วก็จงทำมันให้เต็มที่ สนุกกับมันให้ได้ ไม่เอาปัญหาอื่นมาเป็นเงื่อนไขให้คุณหมดสนุก เซ็ง หรือเบื่ออีก เช่น เพื่อนร่วมงานที่ในอนาคตคุณต้องเจอพวกเขาแน่ ซึ่งมันจะมีทั้งที่ดีและไม่ดีให้คุณได้เผชิญ